เด็กฟันผุ อุดฟันแบบไหนได้บ้าง

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องอุดฟันของเด็กๆ กัน เรามาทำความรู้จักระยะของโรคฟันผุก่อนดีกว่าค่ะ
1. ฟันผุในระยะแรก จะพบลักษณะรอยโรคขุ่นขาวบริเวณเคลือบฟันหรือหลุมร่องฟัน ซึ่งจะยังไม่แสดงอาการ และยังไม่จำเป็นต้องรักษาโดยการอุดฟัน เพียงแต่ผู้ปกครองควรพาไปพบทันตแพทย์ เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ อันเป็นสาเหตุของการลุกลามเสียแต่เนิ่นๆ ทันตแพทย์อาจทำการเคลือบฟลูออไรด์เพื่อช่วยให้เกิดการคืนกลับของแร่ธาตุเข้าสู่ฟัน รอยโรคที่เป็นไม่มากอาจจะหายไปได้เอง

2. ฟันผุที่ชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน จะมีผุเป็นรู หรืออาจมีการแตกหักของเนื้อฟันจนเกิดรอยผุเป็นรูบนตัวฟัน เด็กจะเริ่มมีอาการเสียวฟัน …การรักษา ควรได้รับการอุดฟัน

3. ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะมีอาการปวดฟัน ประสาทฟันอักเสบร่วมกับการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน …การรักษา จะต้องได้รับการรักษาคลองรากฟัน และครอบฟัน หรือทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ถอนฟันหากเหลือเนื้อฟันน้อยมาก จนไม่สามารถทำการบูรณะได้

การอุดฟันในเด็กสามารถอุดได้ด้วยวัสดุอุดฟันเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่ใช้ ได้แก่
1. อมัลกัม
2. เรซินคอมโพสิต
3. กลาสไอโอโนเมอร์

นอกเหนือจากการอุดฟันที่ผุในเด็กแล้ว ยังมีการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อเป็นการป้องกันการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุเป็นแนวทางเสริมอีกด้วยค่ะ

ปัจจุบันโรคฟันผุในเด็กเกิดขึ้นได้บ่อยมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบทานขนม เครื่องดื่ม ของหวานที่หาทานได้ง่าย และคุณพ่อคุณแม่ก็ตามใจลูกให้ทาน แต่ขาดการดูแลความสะอาดฟันที่เพียงพอ จึงทำให้เด็กๆ ฟันผุ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาดของฟันและช่องปากของเด็กๆ เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อสุขอนามัยที่ดีต่อไปในภายภาคหน้า